กังหันน้ำชัยพัฒนา





กังหันน้ำชัยพัฒนา คือ เครื่องกลเติมอากาศที่เป็นกังหันน้ำแบบทุ่นลอยซึ่งใช้ในการบำบัดน้ำเสีย โดยใช้กังหันวิดน้ำไปบนผิวน้ำแล้วปล่อยให้ตกลงผิวน้ำตามเดิมและน้ำจะถูกสาดกระจายสัมผัสอากาศทำให้ออกซิเจนละลายในน้ำน้ำเสียจึงมีคุณภาพดีขึ้นสามารถนำไปใช้บำบัดน้ำเสียทั้งจากแหล่งชุมชน อุตสาหกรรมและการเกษตร



           ส่วนประกอบของกังหันน้ำชัยพัฒนา   
1.โครงกังหันรูป 12 เหลี่ยม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร
2. ซองตักวิดน้ำขนาด 110 ลิตร จำนวน 6 ซอง เจาะรูซองเพื่อให้น้ำสามารถไหลกระจายออกมาได้

3. มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 2 แรงม้า
4. ชุดเฟืองเกียร์ทด
5. จานโซ่ จะเชื่อมต่อกับชุดเฟืองเกียร์ทดด้วยสายพาน
6. ทุ่นลอย
7. โครงเหล็กยึดทุ่นลอย
8. แผ่นไฮโดรฟอยล์





หลักการทำงาน



เมื่อมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 2 แรงม้า ทำงานจะส่งกำลังผ่านเฟืองเกียร์ทด สายพาน และจานโซ่ไปยังกังหันน้ำ ทำให้กังหันน้ำหมุนไปพร้อม ๆ กับซองน้ำที่ติดอยู่กับโครงกังหัน และจะวิดตักน้ำที่ความลึกประมาณ 0.50 เมตรจากผิวน้ำ ด้วยความเร็ว 5 รอบต่อนาที และยกน้ำขึ้นไปที่ความสูงประมาณ 1.00 เมตร น้ำที่ถูกยกขึ้นไปจะไหลผ่านรูเล็ก ๆ ที่อยู่บนซองน้ำ และกระจายเป็นฝอยก่อนตกลงสู่ผิวน้ำอีกครั้ง ทำให้พื้นผิวสัมผัสระหว่างน้ำกับอากาศมีมาก เป็นการเติมออกซิเจนให้กับน้ำได้มากขึ้นและเร็วขึ้น นอกจากนี้ ออกซิเจนในอากาศยังถ่ายเทสู่น้ำได้ เมื่อน้ำที่ตกลงบนผิวน้ำก่อให้เกิดฟองอากาศจมลงใต้ผิวน้ำ รวมถึงขณะที่ซองน้ำกดลงไปใต้ผิวน้ำ ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายเทออกซิเจนได้เช่นกัน

สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย

นับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่สำนักงานเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการขอรับสิทธิบัตรเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรเลขที่ 3127 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 โดยเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นสิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก